How to สร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ใน 5 นาที!
ในยุคสมัยที่การทำแค่งานประจำยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆในชีวิตประจำวัน หลายคนจึงต้องมองหาเงินเสริมอื่นเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม
ใช่ว่างานเสริมจะเป็นงานอะไรก็ได้ เพราะการที่จะเลือกงานสักอย่างมาทำเป็นงานเสริมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความสนใจ ความรู้ความสามารถในประเภทงานนั้นๆ เช่น
บางคนขายของเก่งก็สามารถทำร้านค้าออนไลน์เพื่อขายสินค้า
บางคนมีความรู้และความสามารถในการสอนก็สามารถเปิดแฟนเพจหรือเว็บไซต์เพื่อทำการสอนเนื้อหาความรู้ให้แก่บุคคลที่สนใจ
แต่ถ้ามีคนถามผมว่า “อยากทำงานเสริม แต่ไม่รู้จะทำงานอะไร”
ผมมักจะตอบไปว่า “ก็ทำเว็บไซต์สิ”

เพราะตัวผมเองเริ่มทำเว็บไซต์มาได้สักระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการทำเว็บไซต์พอสมควร
ซึ่งผมต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า
- ผมไม่ได้เก่งขั้นเทพ แต่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์เบื้องต้น
- การ Coding, Design ค่อนข้างติดลบ 5555
- รายได้จากการทำเว็บไซต์ของผมไม่ได้สูงมาก แต่มีไว้เพียงพอกับค่าเซิฟเวอร์เท่านั้น
หากมีข้อความหรือเนื้อหาในบางหัวข้อที่มีความผิดพลาดของข้อมูล รบกวนกรุณาส่งข้อความมาบอกผมด้วยนะครับ จะทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ

อันที่จริงแล้ว การทำเว็บไซต์ไม่ใช่เรื่องยาก (ถ้าฝึกฝนบ่อย) แต่ถ้าบางคนไม่เคยมีประสบการ์ณทางด้านการทำเว็บไซต์มาก่อน ก็อาจจะเกิดความสับสนขึ้นได้
ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ตัวผมเองก็เคยเป็นแบบนั้นมาก่อนสมัยเริ่มทำเว็บไซต์ใหม่ๆ แต่ไม่ต้องกังวลนะครับ เพราะบทความนี้ผมจะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่าย เพื่อที่คุณจะสามารถสร้างเว็บไซต์ได้จริง
ผมจะเริ่มจากอธิบายภาพรวมของเว็บไซต์ก่อนนะครับ เพื่อให้ทุกคนสามารถนึกภาพตามไปได้
เว็บไซต์เปรียบเสมือนชิ้นงาน presentation ที่เราทำใน Microsoft Power Point

- เมื่อเปิดสไลด์มาผู้ชมก็จะเห็นหน้าแรกของสไลด์ ซึ่งหน้าแรกของเว็บไซต์จะเรียกว่า Homepage
- Homepage เป็นหน้าหลักที่เมื่อผู้ชมเข้ามาก็จะพบหน้านี้เป็นหน้าแรกสุดเสมอ
- โดยข้อมูลจะถูกแบ่งเป็นแต่ละหน้า เฉกเช่นเดียวกันกับสไลด์แต่ละแผ่น ซึ่งหน้าแต่ละหน้าของเว็บไซต์จะเรียกว่า Web Page
- เว็บไซต์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แสดงผลเหมือนกับสไลด์ที่ต้องเริ่มจาก 1 2 3 ตามลำดับ แต่เว็บไซต์สามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วย Link (HyperLink)
- Link จะมีหน้าที่บอกว่าเนื้อหา/หัวข้อในส่วนนั้นเชื่อมโยงกับตำแหน่งใด
- ทุกเว็บไซต์จะต้องมี Link ไว้สำหรับเชื่อมโยงกันของข้อมูล ทั้งภายใน (Internal Link) และภายนอกเว็บไซต์ (External Link)
- ยกเว้นเว็บไซต์บางประเภทที่มีเพียงหน้าเดียว และใช้ # (Anchor) ในการระบุตำแหน่งของข้อมูล

- สไลด์แต่ละแผ่นก็จะถูกตกแต่งให้สวยงาม ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของตัวผู้สร้าง เช่นเดียวกันกับเว็บไซต์ที่จะมีหน้าตาแตกต่างกันไป
- การเข้าถึงเว็บไซต์ก็สามารถทำได้โดยการเรียกผ่านทาง protocol://subdomain.domainname.tlds ตัวอย่างเช่น https://www.google.com เป็นต้น
- แต่โดยทั่วไปใช้เพียงแค่ domain name และ tld ที่ถูกต้องก็จะสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ทันที
- เนื่องจาก Browser (Google Chrome, Mozilla Firefox ฯลฯ) สมัยใหม่สามารถระบุ Protocol ให้เองอัตโนมัติ เช่น พิมพ์ google.com แล้วกด enter ก็จะเข้าสู่ https://google.com ให้โดยอัตโนมัติ

- การจะเป็นเจ้าของโดเมนได้นั้นต้องจดทะเบียนกับผู้ให้บริการจดโดเมน
- เงื่อนไขในการจดโดเมนคือ ต้องเป็นชื่อโดเมนที่ไม่ซ้ำกับชื่อโดเมนอื่น และเมื่อจดโดเมนแล้วจะไม่สามารถแก้ไขชื่อโดเมนได้ นอกเสียจากว่าจะจดโดเมนใหม่เท่านั้น
- เมื่อได้โดเมนมาแล้ว ก็ต้องมองหา Web Hosting สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์ทั้งหมด เปรียบเสมือน Hard Disk Drive ที่สามารถบันทึกข้อมูลและดึงข้อมูลขึ้นมาแสดงได้ตลอดเวลา

- ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ในเซิฟเวอร์ของทาง hosting เรียกว่า Web Server
- Web Server นอกจากจะเก็บข้อมูลเว็บไซต์แล้ว ก็ยังมีหน้าที่ในการให้บริการแสดงผลหน้าเว็บไซต์ให้แก่ผู้เข้าชมทั่วโลกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
- ทั้งนี้ความเร็วและความเสถียรเป็นสิ่งสำคัญ หาก Web Server มีปัญหาขัดข้องบ่อย ล่มบ่อย ก็จะส่งผลเสียหายต่อเว็บไซต์โดยตรง ผู้เข้าชมก็จะเกิดปัญหาเข้าเว็บช้า เข้าเว็บไม่ได้
- การที่จะช่วยลดภาระการทำงานของ Web Server สามารถทำได้ง่ายโดยการใช้บริการ Cloudflare
- Cloudflare ช่วยในการช่วยบริหารทรัพยากรและจัดการกับผู้ที่ไม่หวังดีต่อเว็บไซต์ของคุณได้ อีกทั้ง Cloudflare ยังช่วยเพิ่มความเร็วในการเข้าชมข้อมูลบนเว็บไซต์อีกด้วย
- เว็บไซต์ที่ไม่มีระบบจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์ ก็จะเปรียบเสมือนการที่หนังสือเล่มหนึ่งที่ เนื้อหา/ปก/คำนำ/สารบัญ ปะปนกันไปหมดไม่เป็นระเบียบ
- คงเป็นเรื่องยากหากที่ต้องมานั่งจัดหน้าตาของเว็บไซต์ทุกครั้งที่มีการสร้างเนื้อหา/หน้าใหม่ๆ จึงมีระบบ CMS เกิดขึ้นมาช่วยแบ่งเบาภาระในส่วนนี้
- CMS ส่วนใหญ่ก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล CMS ที่ผมจะพูดถึงเป็นตัวหลักนั่นก็คือ WordPress
- WordPress นอกจากจะช่วยจัดการเนื้อหาบนเว็บไซต์แล้ว ยังช่วยในการจัดระเบียบเว็บไซต์ให้ดูเป็นสัดส่วน น่าอ่าน และดูสวยงามเป็นระเบียบ ช่วยให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณ
ที่ผมได้กล่าวไปก็เป็นเกริ่นนำของส่วนประกอบของเว็บไซต์อย่างคร่าวๆ ถ้าหากคุณผู้อ่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถส่งข้อความมาถามกันได้ตาม Social Profiles ที่ผมได้ระบุไว้ครับ

เนื้อหาในบทความจะประกอบไปด้วย (สามารถกดที่หัวข้อที่คุณต้องการได้เลยครับ)
- การจดโดเมน Domain Name Registration
- การสมัครบัญชีสำหรับ Web Hosting
- การตั้งค่าโดเมนผ่าน Cloudflare
- การติดตั้ง WordPress สำหรับจัดการเว็บไซต์
ถ้าจะให้ผมมาพูดถึงประวัติศาสตร์ของเว็บไซต์ก็คงจะไม่ใช่เรื่อง เพราะผมเองไม่ได้มีความรู้มากขนาดนั้น..
แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง สิ่งแรกที่คุณต้องนึกถึงนั่นก็คือ ชื่อโดเมน (Domain Name)
การเลือกชื่อโดเมนเป็นสิ่งสำคัญในระยะยาว เพราะหากชื่อโดเมนดี ก็สามารถนำพาให้คุณเป็นที่รู้จักหรืออาจจะกลายเป็นคนดังได้ง่ายๆ
โดยข้อสำคัญของโดเมนก็คือ จะต้องไม่ซ้ำกับบุคคลอื่นในโลก และเมื่อจดไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องจดโดเมนใหม่เท่านั้น
การจดโดเมน

สำหรับการจดโดเมนนั้น สิ่งที่คุณต้องมีและขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ
- บัญชี Paypal – ผมแนะนำ Paypal เพราะว่าสามารถใช้กับบริการได้เกือบทุกอย่างในโลกอินเตอร์เน็ต
- เงิน – ใช้ในการใช้จ่ายหรือสมัครบริการต่างๆที่จะกล่าวถึงต่อไป
ถ้าคุณมีทั้งสองสิ่งที่ผมบอกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการที่เราจะหาผู้ให้บริการจดโดเมน
ซึ่งผมไม่เคยใช้ผู้ให้บริการในไทยนะครับ ส่วนใหญ่ที่เคยใช้มาจะมีแต่ Godaddy.com และ Namecheap.com
แต่ถ้าจะให้แนะนำผมขอแนะนำให้จดโดเมนกับ Namecheap.com คุณสามารถดูวิธีการจดโดเมนตามภาพเลยครับ






- WhoisGuard ทำหน้าที่ปกปิดข้อมูลของเจ้าของโดเมน
- ถ้าคุณอยากจดโดเมนสำหรับเว็บไซต์ 18+ แต่คุณกรอกชื่อจริงที่อยู่จริงเข้าไป สักวันคงมีคนไปเคาะประตูหน้าบ้านแน่ๆ
- ดังนั้นทุกครั้งที่คุณจะจดโดเมนกรุณาให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวด้วยนะครับ
เมื่อคุณชำระค่าจดโดเมนผ่านทาง Paypal เป็นที่เรียบร้อย รอไม่ถึงนาทีโดเมนดังกล่าวก็จะเข้าไปอยู่ในบัญชี Namecheap ของคุณ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้เลยครับ
การสมัคร Web Hosting
หลังจากที่ได้จดโดเมนใหม่มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมาก็คือขั้นตอนการสมัคร Web Hosting
ปัญหาหลักของการทำเว็บไซต์ก็น่าจะเป็นการหา Web Hosting ที่ดี ดีในที่นี้ก็คือ ราคาไม่แพง ประสิทธิภาพดี และบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ
ขอเล่าย้อนไปถึงสมัยที่ผมทำเว็บไซต์ใหม่ๆ ตอนนั้นผมยังไม่มีความรู้เรื่องการทำเว็บสักเท่าไร ก็เช่า Hosting ราคาปานกลางๆ ไม่เน้น support
สุดท้ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เว็บล่ม ผลก็คือไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ได้แต่ปล่อยให้เว็บไซต์ของตัวเองเข้าไม่ได้เป็นระยะเวลาหลายวัน จนสุดท้ายผมจึงย้าย hosting ไปยังที่ใหม่

ปัจจุบัน เว็บไซต์ของผมทั้งหมดก็ย้ายมาอยู่กับผู้ให้บริการเจ้าหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นที่โด่งดังมากเท่าไร แต่ในเรื่องคุณภาพและการให้บริการ ถือว่าตอบโจทย์กับตัวผมมาก
การสมัครเปิดบัญชี Web Hosting ก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ ขั้นตอนเหมือนกันกับตอนจดโดเมน โดยใช้แค่ Email และบัญชี Paypal ก็เพียงพอ
โดยผู้ให้บริการที่ผมจะพูดถึงนั้นก็คือ Excelnode ซึ่งถ้าคุณสนใจสมัครใช้บริการสามารถ กดได้ที่นี่ครับ ซึ่งเมื่อคุณสมัครบัญชีแล้ว สามารถดำเนินการต่อได้ทันที


- คุณสามารถ config ค่าต่างๆเพิ่มเติมได้ภายในหน้านี้ โดยมีรายละเอียดสำคัญที่ต้องใช้คือ Domain ให้คุณกรอกชื่อโดเมนที่คุณเพิ่งทำการจดลงในช่องนี้
- คุณสามารถเลือกได้ว่าจะจ่ายเป็นรายเดือน รายหกเดือน หรือรายปี ในช่อง Choose billing cycle
- ถ้าคุณต้องการ Addons เสริมก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งจะมี Dedicate IP คือ IP ที่ไม่ซ้ำกันกับคนอื่นภายใน hosting และ SSL Certificate เอาไว้สำหรับเว็บไซต์ที่รองรับ https เป็นต้น




หลังจากชำระเงินค่า Web Hosting เป็นที่เรียบร้อยก็สามารถเริ่มต้นขั้นตอนต่อไปได้เลยครับ โดยเริ่มต้นที่เข้าสู่ระบบของเว็บไซต์ Excelnode เสียก่อน จากนั้น




- โดยมี URL, Username และ Password หากคุณจะดู Password ให้กดที่ Click Here to show password 1 ครั้ง
- อย่าลืมที่จะบันทึกข้อมูลทั้งหมดไว้ใน note หรือที่ที่คุณสามารถนำไปใช้ได้สะดวกครับ

หลังจากที่คุณได้ IP Address ของเว็บไซต์มาแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่ผมจะแนะนำคือ การตั้งค่าให้ Domain Name ชี้ไปยัง IP ของคุณเพื่อให้เว็บไซต์ของคุณสามารถเข้าถึงได้จากทุกพื้นที่บนโลกครับ
เพราะโดยส่วนตัวแล้วมนุษย์เราจะไม่ค่อยเข้าเว็บไซต์โดยการจำ IP Address เนื่องจากมีความยากในการจดจำ เราจึงใช้เป็นชื่อโดเมนแทน
ซึ่งคุณสามารถติดตามอ่านได้ที่หัวข้อถัดไปที่ผมจะแนะนำการตั้งค่าโดเมนโดยใช้ Cloudflare
การตั้งค่า Cloudflare

Cloudflare เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างเว็บไซต์ของคุณกับผู้เข้าชม แทนที่ผู้เข้าชมจะสามารถเข้าเว็บไซต์ของคุณได้โดยตรง
แต่ Cloudflare มีบริการในการกรองผู้เข้าชมให้กับคุณ โดยสามารถป้องกันการโดนโจมตีเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า DDoS ได้

พูดง่ายๆก็คือ ถ้าคุณติดตั้งเว็บไซต์และใช้บริการกับ Cloudflare ก็จะสามารถทำให้เว็บไซต์ของคุณปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่ใช้ Cloudflare นั่นก็คือ คุณสามารถจดโดเมนแล้วตั้งค่าให้เว็บไซต์คุณพร้อมออนไลน์ได้ทันที
โดยคุณสามารถสมัครเพื่อเปิดบัญชีใช้งาน Cloudflare ฟรี จากนั้นก็เพียงแค่เพิ่มโดเมนเว็บไซต์ของคุณเข้าไป เพียงเท่านี้เว็บไซต์ของคุณก็พร้อมที่จะออนไลน์แล้ว
สิ่งที่จำเป็นในการเปิดบัญชีกับ Cloudflare ก็ใช้เพียงแค่ Email อย่างเดียวครับ ส่วนเรื่องค่าใช้บริการไม่ต้องกังวล เพราะมี Free Plan ให้ใช้ได้ตลอดชีพ





- สิ่งที่ผมสนใจ ณ ตอนนี้คือบรรทัดแรก ที่มี Type = A ซึ่งก็คือ A Record ที่จะทำการชี้ชื่อโดเมนไปยัง IP Address ที่ถูกต้อง
- ดูได้จากช่อง Name = ชื่อเว็บไซต์ของคุณ และในช่อง Value จะเป็นค่า IP Address
- ในครั้งแรกนั้น Cloudflare จะดึงค่า IP มาจากผู้ให้บริการจดโดเมน (ค่าเริ่มต้น)
- คุณต้องทำการแก้ไขตัวเลขนี้ให้ถูกต้อง โดยดูจากตัวเลขที่คุณได้บันทึกไว้จากหัวข้อที่แล้ว

- ในช่อง Status ที่คุณเห็นจะแสดงเป็นรูปก้อนเมฆสีส้ม หมายถึง ค่าที่บันทึกในบรรทัดนี้จะสามารถใช้งาน Cloudflare ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แต่ถ้าคุณไม่ต้องการก็สามารถกดที่ก้อนเมฆ 1 ครั้ง จะเปลียนเป็นสีเทาครับ


พอถึงขั้นตอนนี้ คุณต้อง Log in เข้าสู่เว็บไซต์ผู้ให้บริการ Domain อีกครั้งนั่นก็คือ Namecheap.com เพื่อทำการเปลี่ยน Nameservers ให้ตรงตามที่ Cloudflare กำหนดครับ






- ซึ่งนี่เองคือเหตุผลว่าทำไมผมต้องใช้ Cloudflare เพราะโดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงค่าของ DNS จะต้องใช้เวลา 48 ชั่วโมงในการทำให้เครือข่ายทั่วโลกได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกัน
- ดังนั้นการใช้ Cloudflare เป็นตัวกลางจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยคุณไม่จำเป็นต้องรอ 48 ชั่วโมงอีกต่อไป เพราะ Cloudflare สามารถทำให้เว็บไซต์ออนไลน์ได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที
ถ้าคุณต้องการจะตรวจสอบว่าการทำงานของ Nameservers นั้นถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ Whatsmydns.net วิธีการตรวจสอบก็ไม่ยากครับ ดูได้ตามภาพ

- ในภาพนี้ ผมกรอกเว็บไซต์ sawadeekap.com ลงไปเพื่อตรวจ Nameservers ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยในช่องถัดจากนั้นให้เลือก NS ซึ่งหมายถึง Nameservers ครับ จากนั้นกด Search แล้วรอสักพัก
- ระบบจะแสดงผลขึ้นมาในแต่ละโซนว่า Nameservers ปัจจุบันของเว็บไซต์คุณมีค่าอะไร
- ซึ่งบางครั้งอาจจะขึ้นเป็นเครื่องหมายกากบาทสีแดง อาจจะหมายถึงมีความขัดข้องหรืออาจจะเกิดจากการตั้งค่าที่ผิดพลาด ให้ตรวจสอบอีกครั้ง
เสร็จแล้วก็กลับมาดำเนินการต่อใน Cloudflare ในขั้นตอนสุดท้ายนั่นก็คือ




ถึงตอนนี้ เว็บไซต์ของคุณก็ออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าคุณลองเข้าเว็บไซต์ คุณอาจจะพบกับความว่างเปล่าของหน้าเว็บ
นั่นก็เพราะว่าเว็บของคุณยังไม่มีเนื้อหาอะไร ซึ่งในหัวข้อต่อไปผมจะแนะนำการติดตั้งระบบสำหรับจัดการเนื้อหาภายในเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมระดับโลกอย่าง WordPress นะครับ ติดตามอ่านกันต่อได้เลย
การติดตั้ง WordPress

ระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ หรือในวงการจะเรียกกันว่า CMS ซึ่งย่อมาจาก Content Management System ซึ่งมีมากมายหลายเจ้า หน้าที่หลักก็เอาไว้สำหรับจัดการ (เพิ่ม/ลบ/แก้ไข) เนื้อหาและตัวเว็บไซต์ครับ
โดยในบทความนี้ผมจะแนะนำการติดตั้ง CMS อย่าง WordPress นะครับ ถ้าเป็นตัวอื่นๆ ผมเองยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้งาน
ซึ่งการติดตั้ง WordPress สามารถทำได้โดยง่ายครับ เพราะทาง Excelnode นั้นได้ติดตั้งตัว Softaculous Apps Installer มาให้แล้วภายใน cPanel ซึ่งสามารถติดตั้งได้โดยง่ายแค่กดและกรอกข้อมูล ตามภาพ






- ในหัวข้อ Choose Protocol ให้เลือก http:// ตามภาพครับ หรือหากเว็บไซต์คุณต้องการใช้ https:// สามารถเลือกได้เลยครับ
- ในหัวข้อ Choose Domain ให้กรอกโดเมนของคุณลงไป (ของผมกรอก sawadeekap.com)
- และในส่วนสุดท้ายที่ต้องระวัง เพราะมันจะเป็นค่าตั้งต้นของตัว Softaculous ว่าให้ติดตั้ง WordPress ภายในโฟลเดอร์ /wp
- ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดพลาดครับ ต้องลบค่าออกจากส่วนนี้ให้หมด ดังภาพต่อไป




- หลังจากติดตั้ง WordPress เสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณก็สามารถทดลองเข้าชมเว็บไซต์ของคุณได้เลยครับ โดยการเรียก http://yourdomain.com (แทน yourdomain ด้วยชื่อโดเมนของคุณ)
- หากคุณต้องการที่จะเข้าสู่ระบบเพื่อที่จะเขียนบทความหรือปรับแต่งแก้ไขเว็บไซต์ก็สามารถทำได้โดยการเติม /wp-admin ต่อท้ายโดเมนของคุณ อย่างเช่น http://yourdomain.com/wp-admin
- ข้อมูล Username และ Password นั้นจะเป็นข้อมูลที่คุณได้กำหนดไว้ข้างต้นมาทำการ Log in ได้ทันที
ซึ่งเมื่อคุณได้ทำการติดตั้งทุกอย่างเป็นที่เรียบร้อย นั่นก็หมายความว่าเว็บไซต์ของคุณพร้อมใช้งาน 100% แล้วครับ ที่เหลือก็เป็นเรื่องอื่นๆที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งโดยทั่วไปผมก็ใช้ Google ในการหาข้อมูลสิ่งที่ต้องการปรับแต่งแก้ไขเอาครับ หากคุณมีข้อสงสัยหรือปัญหาอย่างไร สามารถ Comment ไว้ได้เลยนะครับ ผมจะมาตอบให้ทุกข้อสงสัย
ขอขอบพระคุณเว็บไซต์ Sawadeekap.com ที่ผมเองเพิ่งได้จดโดเมน + Hosting และติดตั้ง WordPress ด้วยตัวเองทั้งหมด จึงทำให้มีภาพแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียดมา ณ ที่นี้ด้วยครับ 5555